ธรรมบรรยายวันที่ 6

ความสําคัญในการเจริญสติและอุเบกขาต่อเวทนาต่างๆ--ธาตุ 4 และความเกี่ยวข้องกับเวทนา--เหตุ 4 ประการที่ก่อให้เกิดรูป--นิวรณ์ 5 อันมีความพอใจในกามคุณ ความพยาบาทคิดร้าย ความหดหู่ซึมเซาง่วงเหงาหาวนอนความ ฟุ้งซ่านรําคาญใจ และความลังเลสงสัย

วันที่ 6 ก็ได้ผ่านไปอีก ท่านยังเหลือเวลาอีก 4 วัน สําหรับการปฏิบัติ ภายใน 4 วันนี้ ท่านจะสามารถขจัดกิเลสภายในจิตใจไปได้บางส่วน และทําความเข้าใจกับเทคนิคนี้ยิ่งขึ้น เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ตลอดชีวิตของท่าน ถ้าหากท่านปฏิบัติด้วยความเข้าใจอันถูกต้อง และเรียนรู้ที่จะนําเอาเทคนิคนี้ไปใช้ในชีวิตประจําวัน การเข้ามาปฏิบัติครั้งนี้ก็จะมีประโยชน์ต่อท่านมากดังนั้นจงทําความเข้าใจกับเทคนิคนี้ให้ถูกต้อง

วิธีการนี้มิใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย ธรรมะ ไม่เพียงแต่จะสอนให้เรายอมรับความจริงอันขมขื่นของความทุกข์ หากแต่ยังแสดงให้เราเห็นวิธีการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วย ด้วยเหตุนี้ วิธีการนี้จึงเป็นแนวทางในการมองโลกในแง่ดี ผนวกด้วยสัจธรรม คือความจริง และการปฏิบัติ เพราะทุกคนจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อพาตนให้พ้นทุกข์

แนวทางทั้งหมดนี้ อาจอธิบายได้ด้วยคําเพียงไม่กี่คํา ดังนี้

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงแท้
เมื่อใดบุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้
เมื่อนั้นเขาย่อมหน่ายในทุกข์
นี่คือหนทางในการชําระจิตให้บริสุทธิ์

คําว่า สังขาร ในที่นี้มิได้หมายถึงแต่เพียงการปรุงแต่งทางอารมณ์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงผลที่เกิดจากการปรุงแต่งเหล่านี้ด้วย การปรุงแต่งทางอารมณ์ทุกชนิดเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะให้ผล และทุกสิ่งทุกอย่างที่คนเราได้ประสบในชีวิตล้วนแต่เป็นผล คือผลจากการกระทําของตนเอง หรือสังขารของตนทั้งในอดีตและปัจจุบัน คํากล่าวข้างต้นจึงหมายความว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ย่อมจะต้องดับไป เสื่อมสลายไป การยอมรับความเป็นจริงดังนี้ด้วยอารมณ์ หรือความศรัทธา หรือความคิด จะไม่ช่วยให้จิตบริสุทธิ์ได้ เราจะต้องเห็นจริง จากประสบการณ์ของการเกิดดับภายในตัวของเราเอง เมื่อเราได้พบเห็นความไม่เที่ยงแท้ด้วยประสบการณ์โดยตรงของเราเอง จากการสังเกตความรู้สึกในกายเรา ความเข้าใจที่เกิดขึ้นก็คือปัญญาอันแท้จริง เป็นปัญญาของเราเอง และด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นนี้ เราก็จะพ้นจากความทุกข์ ถึงแม้ว่าอาจจะยังมีความเจ็บปวดหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์ทรมานกับมันอีกต่อไป เราจะยิ้มรับมันได้ เพราะว่าเราสามารถที่จะเฝ้าดูมันได้

นิสัยของจิตแต่เดิม มักจะพยายามผลักไสความรู้สึกที่เจ็บปวดออกไป และดึงเอาความรู้สึกสุขสบายเข้ามาแทนที่ ตราบใดที่คนเรายังเล่นเกมทุกข์สุข หรือผลักดึงเช่นนี้ จิตใจก็จะยังคงเร่าร้อนรําคาญอยู่อย่างเดิม และความทุกข์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ต่อเมื่อเราได้เรียนรู้ถึงการสังเกตดูความรู้สึกอย่างมีอุเบกขา โดยไม่นําตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้นๆ กระบวนการฟอกจิตให้บริสุทธิ์ก็จะเกิดขึ้น นิสัยเก่าๆ ที่ชอบปรุงแต่งโดยไม่ไตร่ตรอง ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง ก็จะค่อยๆอ่อนกําลังลงและหมดไป เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นอุเบกขาเท่านั้น

การทําเช่นนี้มิใช่จะหมายความว่า การฝึกวิปัสสนาจะทําให้คนเรากลายเป็นผักปลาที่เฉยเมย ปล่อยให้คนอื่นมาทําอันตรายได้ แต่ที่จริงนั้นเป็นการทําให้คนเราได้เรียนรู้วิธีการที่จะปฏิบัติตน แทนการใช้ปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่ก่อนเรามีชีวิตที่เต็มไปด้วยปฏิกิริยา คือการปรุงแต่ง ซึ่งมักจะเป็นไปในทางลบ แต่ตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างเหมาะสมได้อย่างไร จะมีชีวิตที่มีความสุขจากการกระทําของตนได้อย่างไร เมื่อใดที่มีเหตุการณ์ยุ่งยากเกิดขึ้นในชีวิต คนที่ได้เรียนรู้ถึงการสังเกตดูความรู้สึกต่างๆ จะไม่มีปฏิกิริยาปรุงแต่งโต้ตอบโดยไม่ไตร่ตรอง หากแต่จะคอยอยู่สักครู่หนึ่ง อย่างมีสติต่อเวทนา หรือความรู้สึกทางกายต่างๆที่เกิดขึ้น ด้วยจิตที่วางเฉย และต่อจากนั้นก็จะตัดสินใจ และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง การกระทําของเขาจะมีผลในทางบวก เพราะว่าเป็นการกระทําที่เกิดจากจิตที่สมดุล หรือมีอุเบกขา จะเป็นการกระทําที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

ขณะที่เราได้เรียนรู้ที่จะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดกับรูปหรือกาย และนามหรือจิต เราจะค่อยๆหลุดพ้นจากการปรุงแต่ง ทั้งนี้เพราะเราได้หลุดพ้นจากความไม่รู้หรืออวิชชา นิสัยในการปรุงแต่งมีพื้นฐานมาจากความไม่รู้ บางคนที่ไม่เคยสังเกตดูความเป็นจริงภายในกายตน จะไม่รู้เลยว่าอะไรกําลังเกิดขึ้นภายในกาย และจะไม่รู้ว่าตัวเขาได้มีปฏิกิริยาปรุงแต่งด้วยความชอบหรือโลภะ หรือด้วยความชังหรือโทสะ ซึ่งทําให้เกิดความตึงเครียดและทําให้ตนเองเป็นทุกข์

ความยากลําบากอยู่ตรงที่ว่า นามหรือจิตจะเปลี่ยนแปลงมากกว่ารูปหรือกาย กระบวนการเกิดดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเราจับไม่ทัน เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับการฝึกหัดให้ติดตามจิตได้ทัน เมื่อคนเราไม่รู้ถึงความเป็นจริง เราก็ยังคงอยู่ในโมหะหรือความหลงที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเองจากสิ่งภายนอกที่มากระทบ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น แต่สําหรับบางคนที่ได้เรียนรู้ถึงการสังเกตเวทนาหรือความรู้สึกทางกาย ก็จะพบว่าความเป็นจริงในส่วนลึกนั้นแตกต่างไปจากที่แลเห็นอยู่ คนเราจะรู้สึกถึงสิ่งที่อยู่ภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งนั้น โดยผ่านช่องทางหรือทวารทั้ง 6 ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีสิ่งมากระทบ ก็จะเกิดพลังสั่นสะเทือนให้เรารู้สึก สัญญาหรือความจําก็จะประเมินความรู้สึกนั้นว่าดีหรือไม่ดี โดยใช้ประสบการณ์และปัจจัยในอดีต หรือสังขารในอดีตของแต่ละคนเป็นเครื่องตัดสิน จากการประเมินความรู้สึกตามประสบการณ์เก่าๆนี้ คนเราก็เริ่มปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ความรู้สึกทางกายหรือเวทนาจึงเป็นส่วนที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งภายนอกกับการปรุงแต่งของเรา กระบวนการดังกล่าวทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเราไม่ทันได้ตระหนักถึง ในขณะเมื่อการปรุงแต่งเดินทางเข้าไปถึงภายในจิตสํานึกนั้น มันได้เกิดขึ้นซำ้ๆกันเป็นล้านๆครั้ง และเข้มขึ้นเรื่อยๆ การปรุงแต่งนี้จึงมีกําลังมากพอที่จะมีอํานาจเหนือจิตใจของเราได้โดยง่าย

เจ้าชาย สิทธัตถะ โคตมะ ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณจากการที่ได้ทรงค้นพบสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของโลภะ โทสะ และการขจัดสิ่งเหล่านี้ออกตรงที่ที่มันเกิด คือในระดับของความรู้สึกทางกายหรือเวทนา พระองค์จึงได้ทรงสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติอย่างที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว คําสอนที่ว่า คนเราควรจะทําตนให้หลุดพ้นจากโลภะและโทสะนั้น มิใช่เป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะเป็นคําสอนที่มีมาก่อนแล้วในอินเดีย ตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลเสียอีก ทั้งเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างในคําสอนของพระองค์นั้นอยู่ที่การที่ทรงชี้ชัดว่า ความรู้สึกทางกายหรือเวทนาเป็นจุดสําคัญ ที่ทําให้เกิดโลภะและโทสะ ซึ่งจะต้องขจัดออกไป หากเราไม่เข้าไปสังเกตถึงความรู้สึกทางกาย เราก็จะปฏิบัติได้แต่เพียงในระดับพื้นผิวของจิตเท่านั้น ในขณะที่นิสัยการปรุงแต่งที่มีอยู่ดั้งเดิม ก็จะยังคงอยู่ต่อไปในส่วนลึกของจิตใจ ด้วยการเรียนรู้ที่จะมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตนเอง และรักษาความเป็นอุเบกขาต่อความรู้สึกเหล่านั้นไว้ให้ได้ เราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

คําสอนนี้มิใช่เป็นหลักการที่จะให้ยอมรับได้ด้วยศรัทธา หรือเป็นปรัชญาที่จะยอมรับกันได้ในทางความคิด แต่เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องพิจารณาค้นหาความจริงจากการปฏิบัติด้วยตนเอง จงยอมรับว่าเป็นความจริงก็ต่อเมื่อท่านได้ประสบกับตนเองเท่านั้น แม้ว่าการได้ยินได้ฟังความจริงจะเป็นสิ่งสําคัญ แต่ก็จะต้องนําไปสู่การปฏิบัติจริงๆด้วย คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อจะต้องนําไปปฏิบัติให้รู้ได้ด้วยตนเองเสียก่อน เราจึงจะพ้นทุกข์ได้

พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า โครงสร้างของร่างกายทั้งหมดประกอบไปด้วยอนุปรมาณู หรือที่เรียกว่า--กลาปะ-- อันประกอบด้วยธาตุ 4 และลักษณะย่อยของธาตุทั้ง 4 รวมกัน ในโลกภายนอกตัวเรา และแม้แต่ภายในตัวเราเองนั้น เราสามารถจะเห็นธาตุเหล่านี้ได้โดยง่าย ธาตุที่แข็งก็ได้แก่ธาตุดิน ธาตุที่เป็นของเหลวก็ได้แก่ธาตุน้ํา ธาตุที่เป็นแก็สก็ได้แก่ธาตุลม ที่ใดที่มีความร้อน ที่นั้นก็มีธาตุไฟ และเมื่อเราได้สังเกตความเป็นจริงภายในตัวของเราเอง เราก็จะเข้าใจถึงธาตุทั้ง 4 ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งที่มีน้ําหนักทั้งหลายทั้งที่หนักที่สุดไปจนที่เบาที่สุด จะอยู่ในจําพวกธาตุดิน ธาตุไฟก็คือความร้อนหนาว ธาตุลมก็คือความเคลื่อนไหว ทั้งจากสิ่งที่ดูเหมือนนิ่งเฉยไปจนถึงสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวรุนแรง ธาตุน้ําก็มีคุณสมบัติที่เกาะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเชื่อมต่อกัน สสารทุกอย่างจะมีธาตุใดธาตุหนึ่งหรือมากกว่านั้นที่เป็นตัวเด่น ในขณะที่ธาตุอื่นๆก็จะซ่อนเร้นอยู่ และเช่นเดียวกัน ความรู้สึกก็จะเกิดขึ้นตามคุณสมบัติของธาตุที่เป็นตัวเด่นเหล่านั้น ถ้ากลาปะเกิดขึ้นโดยมีธาตุไฟเป็นตัวเด่น ความรู้สึกร้อนหรือหนาวก็จะเกิดขึ้น ในทํานองเดียวกัน ความรู้สึกอื่นๆก็จะเกิดขึ้นตามคุณสมบัติของธาตุอื่นด้วย หากธาตุนั้นๆเป็นตัวนํา และนี่คือสาเหตุที่มีความรู้สึกชนิดต่างๆเกิดขึ้นในร่างกาย หากเราไม่รู้เท่าทัน เราก็จะประเมินและปรุงแต่งต่อความรู้สึกทางกายเหล่านั้น ทําให้เกิดความทุกข์ใหม่ๆขึ้นมา แต่เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น เราก็จะเข้าใจได้ว่า อนุปรมาณูกําลังเกิดขึ้นตามพลังของธาตุใดธาตุหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เกิดขึ้นเพื่อที่จะดับไป ด้วยความเข้าใจอันนี้ เราจะไม่เสียความสมดุลทางด้านจิตใจ เมื่อเราเผชิญกับความรู้สึกชนิดต่างๆ

ในขณะที่เราสังเกตดูความรู้สึกทางกายของตนเองไปเรื่อยๆ เราจะเห็นได้ชัดว่าทําไมกลาปะจึงเกิดขึ้น กลาปะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรานําเข้าไปในกระแสชีวิต หรือกระแสของรูปและนาม กระแสของรูปหรือกายจะต้องการสิ่งที่เข้าไปหล่อเลี้ยงในรูปของวัตถุ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ อาหารที่เรารับประทาน และอากาศที่ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ ส่วนกระแสของนามหรือจิต ก็ต้องการสิ่งที่เข้าไปหล่อเลี้ยงทางด้านจิตใจ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดเช่นกัน คือสังขารเก่า หรือการปรุงแต่งในอดีต กับสังขารใหม่ในปัจจุบัน เช่นถ้าเราปรุงแต่งความโกรธเข้าไปในขณะปัจจุบัน จิตก็จะมีความโกรธทันทีและส่งผลให้ธาตุไฟมีลักษณะเด่นขึ้นในกลาปะ ทําให้เราเกิดความรู้สึกรุ่มร้อนขึ้นในกาย หากปรุงแต่งความกลัวเข้าไปในจิตก็จะมีผลให้ธาตุลมมีลักษณะเด่นขึ้นในกลาปะ ทําให้เรามีความรู้สึกสั่นสะท้านขึ้นในร่างกาย เป็นต้น สิ่งหล่อเลี้ยงทางด้านจิตใจชนิดที่ 2 คือสังขารในอดีต ซึ่งเป็นเสมือนเมล็ดพืชที่จะทําให้เกิดผลภายหลัง กล่าวคือจิตจะเก็บสะสมการปรุงแต่งที่ผ่านมาเอาไว้ เหมือนเมล็ดพืชสะสมคุณสมบัติของพันธุ์ ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีความรู้สึกเช่นไรในขณะที่กำลังปลูกเมล็ดพันธ์ุทางด้านจิตใจ เมื่อผลของสังขารนั้นขึ้นมาในระดับพื้นผิวของจิต ความรู้สึกแบบเดียวกันนั้นก็จะปรากฏออกมาด้วย

จากเหตุทั้ง 4 ประการนี้ เราไม่ควรพยายามที่จะตัดสินว่า เหตุข้อไหนที่ทําให้เกิดความรู้สึกชนิดใดชนิดหนึ่ง ขอแต่เพียงให้เรายอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเช่นไร เราก็เพียงแต่สังเกตดูความรู้สึกโดยไม่พยายามไปปรุงแต่งหรือสร้างสังขารขึ้นมาใหม่ ถ้าเราไม่ใส่การปรุงแต่งใหม่ๆเข้าไปในจิตใจ การปรุงแต่งเก่าๆที่มีอยู่ ก็จะปรากฏออกมาเป็นความรู้สึกทางกายหรือเวทนาโดยอัตโนมัติ เราเพียงแต่สังเกตดูความรู้สึกนั้น เวทนานั้นก็จะดับไปเอง เมื่อเราไม่ปรุงแต่งขึ้นมาอีก สังขารที่มีอยู่เดิมก็จะปรากฏตัวขึ้นมาอีก โดยวิธีนี้เราก็จะได้ปล่อยให้สังขารเดิมปรากฏขึ้นมา แล้วก็ดับไป โดยคงความมีสติและอุเบกขาเอาไว้ ในที่สุดเราก็จะพ้นจากความทุกข์

นิสัยดั้งเดิมที่คอยจะสร้างการปรุงแต่งใหม่ๆขึ้นมา จะต้องถูกกําจัดออกไป อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้างในการปฏิบัติ ศัตรูของการปฏิบัติมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน ซึ่งเรียกว่านิวรณ์ 5 ซึ่งอาจจะมามีอํานาจเหนือท่าน และคอยยับยั้งความก้าวหน้าของท่าน ศัตรู 2 ตัวแรกคือ กามฉันทะ และ พยาบาท กามฉันทะได้แก่ความพอใจในกามคุณ หรือในสิ่งสุขสบายสวยงาม ส่วนพยาบาท ได้แก่ความขัดเคืองใจในสิ่งที่ไม่ชอบ กามฉันทะจะพัฒนาเป็นโลภะ ส่วนพยาบาทจะพัฒนาเป็นโทสะ จุดมุ่งหมายในการฝึกวิปัสสนาก็คือการขจัดกิเลสในใจทั้ง 2 ตัวนี้ แต่มันก็ยังจะปรากฏขึ้นมา แม้ในขณะที่ท่านกําลังปฏิบัติกรรมฐานอยู่ และถ้าหากมันครอบคลุมจิตใจของท่านได้ กระบวนการทําจิตให้บริสุทธิ์ก็จะหยุดชะงัก กามฉันทะจะทําให้ท่านพอใจที่จะให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขขึ้น หรือแม้แต่รู้สึกอยากจะได้มรรคผลนิพพาน ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ก็มิได้แตกต่างอะไรกันนัก เพราะมันก็ยังคงเป็นโลภะที่เป็นเสมือนไฟเผาไหม้ ไม่ว่าเชื้อเพลิงจะเป็นอะไรก็ตาม มันมีแต่จะทําให้ท่านเดินทางไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความหลุดพ้น ส่วนพยาบาทนั้นอาจทําให้ท่านเกิดความรู้สึกขัดเคือง ไม่พอใจต่อความเจ็บปวดที่ท่านกําลังประสบอยู่ และความรู้สึกเหล่านี้ก็จะพาท่านออกไปนอกทางอีก

ศัตรูตัวที่ 3 คือ ความหดหู่ซึมเซา ความง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งเรียกว่า ถีนมิทธะ แม้ว่าท่านจะหลับสนิทตลอดคืน แต่เมื่อท่านมาปฏิบัติกรรมฐาน ท่านก็ยังรู้สึกง่วงอีก ความง่วงนี้เกิดจากจิตของท่านที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งจะขจัดออกไปได้โดยการฝึกวิปัสสนา และขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่พยายามที่จะทําให้ท่าน ต้องเลิกปฏิบัติอีกด้วย ท่านจึงต้องพยายามต่อสู้ป้องกันมิให้ศัตรูตัวนี้มามีอํานาจเหนือตัวท่าน โดยการหายใจให้หนักขึ้นอีกหน่อย หรือลุกขึ้นเอาน้ําเย็นๆ ลูบที่ตาทั้งสองข้าง หรือออกไปเดินสักหน่อย แล้วจึงมานั่งใหม่

บางครั้งท่านอาจจะเกิดอาการฟุ้งซ่านรําคาญใจ ซึ่งเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ นี่ก็เป็นศัตรูตัวที่ 4 ที่จะทําให้ท่านต้องหยุดปฏิบัติ วันทั้งวันท่านวิ่งไปโน่นมานี่ ทําอะไรต่ออะไรหลายๆอย่าง ยกเว้นการนั่งกรรมฐาน หลังจากนั้นท่านจึงทราบว่า ท่านได้ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านอาจจะเสียใจหรือนั่งร้องไห้เสียดายเวลา แต่ในเส้นทางแห่งธรรมะจะไม่มีที่สําหรับให้ท่านมาร้องไห้ ถ้าท่านทําผิด ท่านก็เพียงแต่ยอมรับความผิดนั้นต่อหน้าผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือ และตั้งใจระมัดระวังไม่กระทําความผิดซำ้อีกในอนาค

ศัตรูที่สําคัญตัวที่ 5 สุดท้ายคือ ความลังเลสงสัย ซึ่งเรียกว่า วิจิกิจฉา โดยท่านอาจจะสงสัยเกี่ยวกับตัวผู้สอน หรือเกี่ยวกับวิธีการ หรือแม้แต่เกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการปฏิบัติ ก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามการหลับหูหลับตายอมรับทุกอย่าง หรือการมีความสงสัยโดยไร้เหตุผลอยู่เสมอ ล้วนแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ตราบใดที่ท่านยังมีความสงสัยอยู่ ท่านจะไม่สามารถก้าวหน้าไปบนเส้นทางนี้ได้เลย หากมีสิ่งใดที่ท่านยังไม่เข้าใจ ท่านควรรีบไปหาผู้ให้คําแนะนํา สอบถามให้ชัดเจน เพื่อจะได้ทําความเข้าใจให้ถูกต้อง หากท่านได้ปฏิบัติตามที่บอก ผลก็จะปรากฏให้ท่านเห็นเองอย่างแน่นอน

วีธีการปฏิบัตินี้ มิใช่เป็นเรื่องมหัศจรรย์หรืออภินิหารแต่อย่างใด แต่เป็นกฎของธรรมชาติ ผู้ใดก็ตามที่เริ่มปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ ผู้นั้นก็จะพ้นทุกข์ และนี่คือความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้

มีคนเป็นจํานวนมากที่ได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้มาแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่ได้เข้าศึกษากับพระพุทธองค์เท่านั้น แต่ยังมีคนรุ่นหลังอีกเป็นจํานวนมาก หลังจากสมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติตามวิธีการนี้ ขอให้ท่านได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องพยายามดํารงสติและอุเบกขาไว้ให้มั่น ความไม่บริสุทธิ์ในอดีตที่ฝังลึกอยู่ก็จะลอยขึ้นมาสู่พื้นผิวของจิต และดับสิ้นไป ธรรมะจะให้ผลอันวิเศษในชาตินี้และขณะนี้ ถ้าหากเราได้ปฏิบัติ ดังนั้นจงปฏิบัติด้วยความเชื่อมั่นและด้วยความเข้าใจ จงใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ และได้พบสันติสุขที่แท้จริง

ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน