ศิลปะในการดําเนินชีวิต: วิปัสสนากรรมฐาน

เนื้อหาโดยย่อที่ได้เรียบเรียงไว้นี้ มาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ณ เมืองเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เราทุกคนล้วนต้องการความสงบ มิตรไมตรี เพราะสภาพชีวิตปัจจุบันขาดสิ่งเหล่านี้ บ่อยครั้งที่เราต้องพบกับความขุ่นมัว ความฟุ้งซ่าน รําคาญใจ ความขัดแย้ง  และเมื่อเรามีแต่ความทุกข์เหล่านี้ เราจะไม่เก็บไว้คนเดียว แต่เรามักจะแจกจ่ายความทุกข์เหล่านี้ให้ผู้อื่นที่อยู่รอบข้างด้วย บรรยากาศรอบตัวของคนที่มีความทุกข์จะเต็มไปด้วยความขุ่นมัว และทุกคนที่ได้สัมผัสกับเขาก็จะเกิดความขุ่นมัวตามไปด้วย ความเป็นอยู่เช่นนี้ไม่ใช่การดำเนินชีวิตอย่างที่เหมาะสมแน่นอน

เราควรจะดำเนินชีวิตด้วยความสงบในจิตใจและมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่น ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ต้องเกี่ยวข้องกัน แล้วเราจะปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อจะมีชีวิตอย่างสงบสอดคล้องกลมเกลียวภายในตัวเรา และรอบตัวเรา เพื่อผู้อื่นจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบและสอดคล้องกลมเกลียวเช่นเดียวกัน

ในการคลายความทุกข์ เราต้องรู้สาเหตุที่ทำให้มันเกิด เมื่อเราเข้าถึงปัญหา ก็จะพบว่า เมื่อใดที่เราเร่ิมสร้างกิเลสหรือเกิดความไม่บริสุทธิ์ในจิตใจ เราจะไม่มีความสุข กิเลสกับความสงบสุขไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้

แล้วกิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกัน เมื่อเราเข้าถึงปัญหา จะชัดเจนว่า เราจะไม่มีความสุขเมื่อใครคนหนึ่งกระทําสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเกิดเหตการณ์ที่เราไม่ชอบ  เราจะผลักไสและเกิดความตึงเครียดภายใน  เมื่อสิ่งที่เราต้องการไม่เกิดขึ้นเพราะอุปสรรคเข้ามาขวางกั้น อีกครั้งที่เราจะเกิดความตึงเครียด เราเริ่มผูกปมในใจ และตลอดชีวิตของเรา สิ่งที่ไม่พึงประสงค์มักเกิดขึ้นเสมอ สิ่งที่ต้องการอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น เราก็เฝ้าแต่ตอบโต้ด้วยปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดปมในใจ สร้างความขุ่นเคือง ทําให้จิตใจและร่างกายตึงเครียด ชีวิตมีแต่ความทุกข์

คราวนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือ เราต้องทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามที่เราต้องการ  เราต้องสร้างอํานาจขึ้นมา หรือขอให้ผู้ที่มีอํานาจมาช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ต้องการ บันดาลให้เฉพาะแต่สิ่งที่ต้องการ ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่มีใครในโลกที่จะสมหวังตามความต้องการทุกอย่าง สิ่งที่ไม่ปรารถนาย่อมเกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทําอย่างไรจึงจะหยุดตอบโต้อย่างมืดบอด เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา  ทําอย่างไรจึงจะหยุดสร้างความตึงเครียดและรักษาความสงบและความสมานฉันท์

ในอินเดียเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆนักปราชญ์ในอดีตได้ศึกษาปัญหาความทุกข์ของมนุษย์ และพบแนวทางแก้ปัญหาวิธีหนึ่ง คือ เมื่อสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ถ้าเราเริ่มมีความโกรธ ความกลัว หรือความขุ่นเคืองเกิดขึ้น ก็ให้เราหันเหความสนใจไปยังสิ่งอื่น เช่น ลุกขึ้นไปหาน้ำดื่ม แล้วความโกรธก็จะลดลงไม่เพิ่มพูน หรือให้นับหนึ่งถึงสิบ หรือให้ท่องคำบริกรรมซ้ำๆ สวดมนต์ หรือท่องชื่อของเทพเจ้า หรือนักบุญที่เราศรัทธา จิตจะถูกเบี่ยงเบนจากความโกรธ ทําให้เราหายขุ่นเคือง หายโกรธได้ในระดับหนึ่ง

การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ช่วยได้ เคยใช้ได้ดี และยังใช้ได้อยู่ ถ้าทําเช่นนี้จะรู้สึกว่าจิตหายกระวนกระวาย แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ได้ผลเพียงแค่ในระดับจิตสํานึกเท่านั้น  ในความเป็นจริงแล้วการหันเหความสนใจ เท่ากับเราได้กดความขุ่นเคืองใจลึกลงไปที่จิตไร้สำนึก และในจิตไร้สํานึกนี้กิเลสก็จะเพิ่มพูนไปเรื่อยๆ ที่ระดับพื้นผิวของจิตดูเหมือนจะมีความสงบและสอดคล้องกลมเกลียว แต่ในส่วนลึกของจิตกลับมีภูเขาไฟที่คุกรุ่นซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ช้าก็เร็ว อาจจะปะทุขึ้นมา พร้อมจะระเบิดอย่างรุนแรง

นักปราชญ์อื่นที่สํารวจเข้าไปในส่วนลึกของจิต ได้ประสบกับความจริงของรูปและนามภายในตนเอง จึงได้ตระหนักว่า การหันเหความสนใจเป็นเพียงแค่การวิ่งหนีจากปัญหา เราไม่อาจแก้ปัญหาด้วยการวิ่งหนี แต่ต้องเผชิญหน้ากับมัน เมื่อความขุ่นมัวเกิดขึ้นในใจ ก็เพียงเฝ้าสังเกตดูมัน เผชิญหน้ากับมัน ทันทีที่เราเร่ิมสังเกตมัน ความไม่บริสุทธิ์ในจิตนั้นจะค่อยๆ อ่อนกําลังลง และสลายไปในที่สุด

ทางออกทีดี หลีกเลี่่ยงความสุดโต่งทั้งการกดข่มและการแสดงความโกรธออกมา  การกดความขุ่นมัวความไม่บริสุทธิิ์ลงไปในระดับจิตไร้สำนึกจะไม่ช่วยให้มันถูกกำจัดออกไป และการระบายออกมาเป็นคําพูดหรือการกระทําที่เป็นอกุศลจะเป็นการเพิ่มปัญหา แต่ถ้าเราเพียงแต่เฝ้าสังเกตดู มันก็จะค่อยๆ อ่อนกําลังลง และถูกขจัดไปในที่สุด จนเราเป็นอิสระจากมัน

วิธีนี้ฟังดูดี แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะสามารถเผชิญหน้ากับกิเลสของตนได้ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันจะครอบงําเราอย่างรวดเร็วจนไม่รู้ตัว แล้วเราก็จะทำ หรือพูดในสิ่งที่ทําร้ายทั้งตนเองและผู้อื่น ครั้นพอความโกรธหายไป เราเริ่มเสียใจ สํานึกผิด และร้องขอการให้อภัยจากคนนั้นคนนี้ หรือต่อพระเจ้า "โอ ฉันผิดไปแล้ว โปรดให้อภัยฉันด้วย" แต่เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอีก เราก็ตอบโต้ในลักษณะเดิมอีก ความสํานึกผิดแบบนี้ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เลย

ความยากลำบากอยู่ที่ว่า เราไม่รู้ตัวว่ากิเลสจะผุดขึ้นมาเมื่อใด มันเกิดขึ้นที่ส่วนลึกของจิตไร้สํานึก และกว่าจะปรากฏออกมาที่จิตสำนึก มันก็มีพลังแรงเข้าครอบงําเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

สมมติว่า เราจ้างเลขานุการส่วนตัวมาไว้คอยเตือนตัวเอง เมื่อเกิดความโกรธเขาจะได้เตือนว่า..."ดูสิ!เริ่มโกรธแล้วนะ!" และในเมื่อเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความโกรธจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงต้องมีเลขานุการคอยทํางานตลอด ๒๔ ชั่วโมง แบ่งเป็น ๓ กะ กะละ ๘ ชั่วโมง สมมุติว่าเราสามารถจ้างเลขานุการไว้ช่วยเตือนได้ แต่เมื่อเราเกิดความโกรธ แล้วเลขานุการรีบเตือนว่า “ระวังครับท่าน ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว” ทว่าสิ่งแรกที่เรากลับทําก็คือ ตบหน้าเลขานุการ แล้วว่า “เจ้าโง่ ฉันไม่ได้จ้างแกมาสอนฉัน”  ทั้งนี้เพราะความโกรธครอบงําเราอย่างหนัก  คําแนะนําใดๆ ก็ช่วยเราไม่ได้ในเวลานั้น

และถึงแม้ว่าเราจะรับมืออย่างมีปัญญาและไม่ตอบโต้รุนแรง แต่กล่าวว่า “ขอบใจมากที่เตือน ฉันจะต้องนั่งลงและสังเกตความโกรธ” แล้วเราจะสังเกตความโกรธได้อย่างไร ทันทีที่หลับตาและสังเกตความโกรธ สิ่งที่กระตุ้นให้เราโกรธจะปรากฏขึ้นในใจทันที่ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสถานการณ์ นั่นหมายถึงเราไม่ได้สังเกตอารมณ์ความโกรธ แต่กลับสังเกตสิ่งกระตุ้นภายนอกเท่านั้น   การทําเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มพูนความโกรธ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เป็นการยากที่จะสังเกตอารมณ์ความโกรธ ซึ่งเป็นนามธรรม โดยแยกจากสิ่งภายนอกที่ทําให้เราโกรธ

แต่ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดได้ค้นพบหนทางที่แก้ปัญหาได้จริงๆ ท่านผู้นั้นพบว่าเมื่อใดก็ตามที่กิเลสเกิดขึ้นในจิตใจ จะเกิดปรากฏการณ์ทางกายขึ้นพร้อมๆ กัน ๒ อย่าง คือ ๑ จังหวะการหายใจจะผิดปกติ เราจะหายใจแรงเมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นในใจ ซึ่งสังเกตได้ง่าย ๒ ในระดับที่ละเอียดกว่า คือจะมีปฏิกิริยาทางชีวเคมีบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งปรากฏออกมาเป็นเวทนาความรู้สึก กิเลสทุกอย่างจะทําให้เกิดเวทนาความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

วิธีนี้สามารถปฏิบัติได้จริง คนทั่วไปไม่อาจจะสังเกตกิเลส ซึ่งเป็นนามธรรม เช่น ความโกรธ ความกลัว ความใคร่ แต่สามารถสังเกตลมหายใจหรือความเวทนาความรู้สึกทางกายได้หากฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้อง ทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดขึ้นของกิเลสภายในจิต

ลมหายใจและความรู้สึกทางกายจะช่วยเราได้ ๒ ทาง คือ คอยเตือนเราเหมือนเป็นเลขานุการส่วนตัว ทันทีที่กิเลสเกิดขึ้นในจิต ลมหายใจของเราจะผิดปกติ ราวกับจะร้องบอกว่า “ระวัง! มีบางสิ่งผิดปกติ” ซึ่งเราไม่อาจโต้แย้งได้ หากต้องยอมรับคําเตือน เช่นเดียวกับเวทนาความรู้สึกทางกายของเราก็จะบอกว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อเราได้รับการเตือนแล้ว ก็หันมาสังเกตลมหายใจหรือเวทนาความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ในทันทีเราจะพบว่ากิเลสนั้น สลายตัวไป

ปรากฏการณ์ทางจิตและกายเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือความคิดหรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต  ส่วนอีกด้านคือลมหายใจ หรือเวทนาความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดความคิด อารมณ์ หรือกิเลสในจิตใจ จะสะท้อนออกมาทางลมหายใจและเวทนาความรู้สึกทางกายในขณะเดียวกัน ดังนั้นการสังเกตลมหายใจหรือเวทนาความรู้สึกทางกาย ก็คือการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต แทนที่จะเป็นการหนีปัญหา กลับเป็นการเผชิญหน้ากับความจริงที่กําลังเกิดขึ้น ถ้าเราสังเกตความจริงนี้ ก็จะพบว่ากิเลสนั้นอ่อนกําลังลง จนไม่สามารถครอบงําเราได้เหมือนก่อน และถ้าเราสังเกตต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะสลายตัวไปในที่สุด และเราก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุข มีอิสระจากกิเลสต่างๆมากขึ้น

การสังเกตตนเองทําให้เราเห็นความจริงทั้งสองแง่มุม คือ ความจริงภายนอก และความจริงภายใน เราเคยแต่มองออกไปข้างนอก ทําให้ไม่พบกับความจริงภายใน เรามักมองออกไปข้างนอกเพื่อหาสาเหตุที่ทําให้ตัวเองเป็นทุกข์ เราเอาแต่โทษสิ่งภายนอก และพยายามแก้ไขสิ่งภายนอก โดยละเลยความจริงภายใน และไม่เข้าใจว่าความทุกข์ของตัวเองมาจากสาเหตุภายใน คือการปรุงแต่งตอบโต้อย่างมืดบอดต่อความรู้สึกน่าพอใจและไม่น่าพอใจเหล่านั้น

ถ้าเราฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้อง เราจะเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือความจริงภายในตัวเรา สามารถรับรู้ถึงลมหายใจและเวทนาความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เราจะเรียนรู้ที่จะเฝ้าดูโดยไม่เสียสมดุลของจิต หยุดตอบโต้หยุดเพิ่มพูนความทุกข์ ปล่อยให้กิเลสที่แสดงตัวออกมาค่อยๆ หมดกําลังลง และดับไปในที่สุด

ยิ่งปฏิบัติในแนวทางนี้มากเท่าใด กิเลสจะถูกขจัดออกมากเท่านั้น จิตจะค่อยๆ หลุดพ้นจากกิเลส เป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้น จิตที่บริสุทธิ์นี้จะเต็มไปด้วยความรักความเมตตาต่อทุกคน เปี่ยมด้วยความกรุณาต่อผู้ทุกข์ยาก และยินดีต่อความสําเร็จและความสุขของผู้อื่น จิตจะมีอุเบกขาในทุกๆ สถานการณ์

ผู้ที่บรรลุถึงขั้นนี้ รูปแบบการดําเนินชีวิตจะเปลี่ยนไป จะไม่กระทําการใดๆ ทางกายหรือวาจาที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ จิตที่สมดุลไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความสงบสุข แต่ยังจะช่วย ให้บรรยากาศรอบๆ ตัวเกิดความสงบสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ส่งผลให้ผู่อยู่รอบข้างมีความสงบสุขไปด้วย

การฝึกวางใจเป็นกลางเมื่อจิตต้องเผชิญกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน จะพัฒนาความไม่ยึดมั่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ภายนอกด้วย แต่การไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ใส่ใจต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบข้าง ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะรับรู้ความทุกข์ยากของผู้อื่นด้วยความห่วงใย และพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทําได้ โดยไม่มีความรู้สึกขุ่นมัว แต่เปี่ยมด้วยความรักความเมตตาและอุเบกขา เขาย่อมจะหาหนทางช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ โดยที่ยังคงรักษาความสมดุลของจิตเอาไว้ให้มีความสงบสุข

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ คือศิลปะของการดําเนินชีวิต พระองค์ไม่ได้สอนหรือตั้งลัทธิขึ้นมา ทรงไม่เคยบอกให้สาวกของพระองค์ทําพิธีกรรมใดๆ หรือทําตามประเพณีงมงายใดๆ พระองค์ทรงให้เพืยงแต่สังเกตธรรมชาติอย่างที่มันเป็นอยู่ โดยการเฝ้าสังเกตความจริงภายในตัวเอง  แต่เพราะมืดบอดเรามักจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทางที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น  เมื่อเราเกิดปัญญาจากการเฝ้าสังเกตความจริงตามที่มันเป็นอยู่ นิสัยความเคยชินในการตอบโต้ก็จะหายไป   เมื่อเราหยุดตอบโต้อย่างมืดบอด เราจะเป็นผู้ที่สามารถกระทําสิ่งต่างๆด้วยจิตที่สมดุลซึ่งจะรู้และเข้าใจตามความเป็นจริง การกระทําเช่นนี้จะมีแต่ผลดี สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น

สิ่งที่สําคัญคือ เราต้อง “รู้จักตัวเอง” ดังที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายแนะนํา เราต้องรู้จักตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับเชาวน์ปัญญา หรือทฤษฎี ไม่ใช่แค่เข้าถึงอารมณ์ หรือมีศรัทธาแล้วยอมรับอย่างงมงายตามที่ได้ยินหรือได้อ่านมา ความรู้เหล่านี้ไม่อาจช่วยเราให้หลุดพ้นได้จริง  เราต้องพบความจริงเกี่ยวกับตัวเองด้วยประสบการณ์จริง คือปรากฏการณ์ทางร่างกายและจิตใจ จึงจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากกิเลสความทุกข์

การปฏิบัติด้วยการสังเกตตัวเองเพื่อให้เข้าถึงความจริงภายในนี้เรียกว่า การปฏิบัติวิปัสสนา ในภาษาอินเดียโบราณสมัยพุทธกาล ปัสสนา แปลว่า การเห็นด้วยตา วิปัสสนา แปลว่า การมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นอยู่ ไม่ใช่ตามที่มันดูเหมือนจะเป็น เราต้องเจาะลึกลงไปเพื่อผ่านความจริงที่ผิวเผินจนถึงความจริงอันสูงสุดของร่างกายและจิตใจ เมื่อเราเข้าถึงความจริงอันสูงสุดนี้แล้ว เราจะค่อยๆหยุดการตอบโต้อย่างมืดบอด หยุดสร้างอกุศล และกิเลสเก่าๆ ก็จะถูกขจัดออกไปทีละเล็ก ละน้อยโดยธรรมชาติ เราจะเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ และประสบแต่ความสุข

หลักการอบรมวิปัสสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ การรักษาศีล เราจะต้องงดเว้นจากการกระทําทางกายหรือวาจาที่รบกวนความสงบสุขของผู้อื่น เราจะไม่สามารถปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสได้ ถ้ายังมีกายกรรมหรือวจีกรรมที่เป็นการเพิ่มพูนกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องรักษาศีลเป็นพื้นฐาน คือการรักษาศีล ๕ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และไม่เสพสารมึนเมา การรักษาศีลดังกล่าวจะทำให้จิตเกิดความสงบ จนพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไป

ขั้นตอนต่อมา คือการพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิตที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง ด้วยการฝึกกำหนดความสนใจให้อยู่กับสิ่งเดียว คือลมหายใจ เราจะพยายามรับรู้ลมหายใจให้นานที่สุด นี่ไม่ใช่การฝึกหายใจ ไม่ใช่การควบคุมลมหายใจ แต่เป็นการสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก การกระทําเช่นนี้จะทําให้จิตสงบยิ่งขึ้น จิตจะไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสที่รุนแรง ในขณะเดียวกันจิตจะเป็นสมาธิและมีความแหลมคม สามารถที่จะสํารวจความจริงในตัวเอง

สองขั้นตอนแรกนี้ คือการดำเนินชีวิตอย่างมีศิลธรรมและการควบคุมจิตใจ เป็นสิ่งที่จําเป็นและมีประโยชน์โดยตัวมันเอง แต่จะนําไปสู่การกดความไม่บริสุทธิ์ของจิตไว้ หากเราไม่ปฏิบัติขั้นตอนที่สาม คือ การชําระจิตให้ปราศจากกิเลส โดยพัฒนาปัญญาให้เห็นธรรมชาติของตนเอง การปฏิบัติวิปัสสนาคือ การพบความจริงภายในด้วยการสังเกตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยปราศจากอคติ เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของนามและรูปที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นเวทนาความรู้สึกที่ร่างกาย นี่เป็นสาระสําคัญในคําสอนของพระพุทธเจ้า คือการชําระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการสังเกตตนเอง

วิธีนี้สามารถปฏิบัติได้ทุกคน เราทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ความทุกข์เป็นโรคสากล ดังนั้นวิธีการบำบัดทุกข์จึงต้องเป็นสากล ไม่จำกัดลัทธิ เมื่อเกิดทุกข์จากความโกรธ มันไม่ใช่ความโกรธแบบพุทธ แบบฮินดู หรือแบบคริสต์ ความโกรธก็คือความโกรธ  เมื่อเราเกิดความขุ่นเคืองเนื่องจากความโกรธ ความขุ่นเคืองนั้นก็ไม่ใช่ความขุ่นเคืองของชาวคริสต์ ชาวฮินดู หรือชาวพุทธ ทุกข์เป็นโรคสากล วิธีการบำบัดทุกข์จึงต้องเป็นสากลด้วย

การปฏิบัติวิปัสสนาคือคำตอบ ไม่มีใครจะคัดค้านการดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรมซึ่งไม่รบกวรความสงบสุขของผู้อื่น ไม่มีใครจะคัดค้านการฝึกควบคุมจิตใจ ไม่มีใครจะคัดค้านการพัฒนาความเข้าใจในธรรมชาติภายในของตัวเอง อันจะช่วยให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส  วิปัสสนาจึงเป็นหนทางที่เป็นสากล

การสังเกตความเป็นจริงภายในตนเองคือ การรู้จักตนเองด้วยประสบการณ์ตรง เมื่อฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ หลุดพ้นจากความทุกข์ของความไม่บริสุทธิ์ของจิต เริ่มจากความจริงภายนอกอย่างหยาบ จนผ่านไปสู่ความจริงอันสูงสุดของรูปและนาม แล้วข้ามพ้นความจริงของรูปนาม เข้าถึงความจริงที่อยู่เหนือรูปนาม อยู่เหนือมิติของกาลเวลาและขอบเขต อยู่เหนือขอบเขตของความสัมพัทธ์ เป็นความจริงของการหลุดพ้นจากกิเลส ความไม่บริสุทธิ์ และความทุกข์ทั้งมวล ไม่สําคัญว่าเราจะเรียกความจริงสูงสุดนี้อย่างไร แต่นั่นคือเป้าหมายของทุกคน

ขอให้ท่านทั้งหลายได้ประสบกับความจริงอันสูงสุดนี้ ขอให้ทุกๆท่านจงหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ได้พบกับความสงบ ความสมานฉันท์ และความสุขที่แท้จริง

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน